ไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต

ไวรัสตับอักเสบบี ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต

ไวรัสตับอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย เป็นภาวะที่ตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบที่มีหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ A B C D และ E หากเป็นแล้วตับจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เมื่อทิ้งไว้จนเรื้อรังมีโอกาสที่จะเป็นตับแข็ง และร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งตับได้  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)  เกิดจากสาเหตุอะไร?

โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)  เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ชนิดบี (Hepatitis B Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคตับเรื้อรัง และมะเร็งตับ ผ่านสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น เลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวอื่น ๆ ในร่างกาย หากผู้ที่ได้รับเชื้อมาไม่มีภูมิต้านทานไวรัสตับอักเสบ บี ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อ เมื่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 45-90 วัน แล้วจึงเริ่มแสดงอาการ ซึ่งบางรายอาจจะนานถึง 180 โดยจะเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายเอง และสร้างภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยบางรายร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้อาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ตับวาย มะเร็งตับ และเสียชีวิต

อาการโรคไวรัสตับอักเสบบี 

อาการระยะเฉียบพลัน

เป็นการติดเชื้อที่กินระยะเวลาไม่นาน มักมีอาการของโรคที่ปรากฏอย่างชัดเจน และจะหายได้เองภายใน 6 เดือน แต่หากร่างกายไม่สามารถหายได้เองก็สามารถนำไปสู่การติดเชื้อในระยะยาว หรือไวรัสตับอักเสบเรื้อรังได้  โดย ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือนหลังติดเชื้อ ดังนี้

  • อาการไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง(ดีซ่าน) ปวดท้องใต้ชายโครงขวา แน่นท้อง และปัสสาวะสีเหลืองเข้ม
  • อาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย อ่อนเพลีย ผื่น ปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง เกิดจากการที่เซลล์ตับถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้อาจทำให้เกิดภาวะตับวายได้
  • อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 1-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ ซึ่งมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ผู้ป่วยส่วนน้อย (5-10%) ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง

อาการระยะเรื้อรัง

เป็นการติดเชื้อที่กินระยะเวลานานกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลียอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีอาการเลย พบได้บ่อยในผู้ที่ติดเชื้อตั้งแต่เด็กหรือทารกแรกเกิด ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังสามารถนำไปสู่โรคตับชนิดอื่น ๆ ได้ เช่นโรคตับแข็ง และโรคมะเร็งตับ  โดยสามารถแบ่งผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่มคือ

  • พาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ระยะนี้มักไม่มีอาการผิดปกติ ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มักจะพบในช่วงวัยรุ่น จนถึงอายุ 40 ปี  แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผลการตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ  แต่ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี
  • ตับอักเสบเรื้อรัง เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย บางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อตรวจเลือดจะพบค่าการทำงานของตับสูงขึ้น แสดงถึงว่าตับมีการอักเสบเรื้อรัง และสามารถทำให้ตับแข็งได้ ในระยะนี้จึงจำเป็นต้องรักษา และการติดเชื้อแบบเรื้อรังพบบ่อยในเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด

อาการระยะตับแข็ง และมะเร็งตับ 

เป็นระยะสุดท้ายของโรคตับ เกิดจากการอักเสบของตับเรื้อรัง จะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่าน ท้องมาน แขนขาบวม ตัวบวม

การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี

การรักษามี 2 วิธี ดังนี้

  1. การกินยา เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส และการแพร่กระจายของเชื้อ ถือเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
  2. การฉีดยา (Interferon) เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน ที่เรียกว่า ยาฉีดเพ็กไกเลดเตด อินเตอร์เฟียรอน (pegylated interferon) ยาตัวนี้มีฤทธิ์ไปกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ป่วยให้ต่อสู้ควบคุมไวรัสตับอักเสบบีเป็นหลัก โดยการฉีดใต้ผิวหนังอาทิตย์ละครั้ง และฉีดต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี แต่อาจจะมีผลข้างเคียงจากยามากกว่ายาแบบรับประทาน

โดยแบ่งระยะการรักษาดังนี้

  • ระยะสงบ จะติดตามผมเลือดเป็นระยะอย่างน้อยทุก 3-6 เดือน เพื่อเตรียมตัวรักษาเมื่อมีการอักเสบ โดยระยะที่ตับยังไม่อักเสบจะยังไม่มีการใช้ยาต้านไวรัส
  • ระยะตับอักเสบ จะตรวจปริมาณไวรัสและรักษาโรคโดยการใช้ยาฉีดหรือยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน
  • ระยะที่มีตับแข็ง หรือระยะที่มีมะเร็งตับ จะพิจารณาใช้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน
  • การรักษาในกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือผู้ป่วยที่เตรียมรับยาเคมีบำบัด จะมีการพิจารณารักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดรับทาน

การป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ (ปกติถ้ามีภูมิแล้วจะป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต) หากไม่ทราบว่ามีภูมิคุ้มกัน หรือไม่ สามารถตรวจได้โดยการตรวจเลือด
  • สำหรับเด็กทารกแรกเกิด การได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกคลอด หลังฉีดวัคซีนครบ 3 เข็มแล้วเกือบทั้งหมดจะมีภูมิคุ้มกัน
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
  • ตรวจสุขภาพประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตรวจเช็คตับให้ได้ปีละครั้ง
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีน และการระมัดระวังในพฤติกรรมการใช้ชีวิต การรู้จักอาการ และวิธีป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรรู้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และรักษาสุขภาพตับอย่างเหมาะสมได้ในขณะเดียวกัน

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *