โรคเริมที่อวัยวะเพศ ทำไมเป็นแล้วไม่หายขาด

โรคเริมที่อวัยวะเพศ ทำไมเป็นแล้วไม่หายขาด

นอกจากโรคเริมที่ปากซึ่งเจอได้บ่อย ๆ แล้ว ยังมีโรคเริมที่อวัยวะเพศ ที่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย มักพบในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีกิจกรรมทางเพศเป็นประจำ เพราะเชื้อไวรัสเริมมักแพร่กระจายโดยการสัมผัสทางผิวหนังระหว่างมีเพศสัมพันธ์  และเพศหญิงจะมีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเพศชาย ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางรายอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งเมื่อร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วย หรือในช่วงที่มีประจำเดือน 

โรคเริมที่อวัยวะเพศ คืออะไร?

โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชนิดที่สามารถส่งผลต่ออวัยวะเพศได้ โดยเชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ โรคเริมที่อวัยวะเพศอาจมีอาการเจ็บ คัน เกิดบาดแผลหรือตุ่มพองบริเวณอวัยวะเพศ และอาจมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะร่วมด้วย เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ บางรายอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งเมื่อร่างกายอ่อนแอ เจ็บป่วย หรือในช่วงที่มีประจำเดือน  เพราะเชื้อไวรัสนี้จะคงอยู่ในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไปตลอด 

สาเหตุโรคเริมที่อวัยวะเพศ

สาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus: HSV) ที่สามารถติดต่อผ่านทางผิวหนังและทางเพศสัมพันธ์ โดยไวรัสชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ HSV-1 เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเริมที่ปาก และ HSV-2 เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ง่ายถึงแม้จะไม่มีบาดแผลเปิด   เพราะไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง สารคัดหลั่ง อย่างน้ำลาย อสุจิ หรือตกขาว ได้ด้วย   ซึ่งมักจะแสดงอาการภายใน 3 – 14 วัน

อาการโรคเริมที่อวัยวะเพศ

อาการของโรคจะเริ่มจากพบตุ่มพองใสๆ เล็กๆ ที่บริเวณผิวหนัง จากนั้น ตุ่มใสจะเริ่มพองและปวดแสบปวดร้อน เมื่อผ่านไป 1- 2 วัน ตุ่มใสจะมีน้ำอยู่ข้างในและเริ่มแตกออก หากมีการติดเชื้อก็จะเกิดการอักเสบลุกลามและเกิดแผลขนาดใหญ่รักษาหายยากขึ้น โดยอาการของโรคเริมที่อวัยวะเพศ มีดังนี้

  • มีตุ่มน้ำพองใส หรือแผลพุพองเล็ก ๆ ที่ขึ้นบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ
  • เกิดรอยแตก หรือรอยแดงบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศ แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บหรือคัน
  • มีอาการคันระคายเคือง เจ็บแสบที่อวัยวะเพศ หรือรอบ ๆ ทวารหนัก
  • มีอาการเจ็บแสบที่อวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ (dyspareunia)
  • มีอาการเหมือนมีหนามแหลมเล็ก ๆ ทิ่มตำ อาการแสบคับหรือแสบร้อน
  • มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต หรือบวม และอ่อนเพลีย เป็นต้น 
  • มีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ โดยเฉพาะในเพศหญิง เนื่องจากมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีอาการตกขาว (ในเพศหญิง) มีกลิ่นคาว
  • อวัยวะเพศบวมแดง

การรักษาโรคเริมที่อวัยวะเพศ

โรคเริมที่อวัยวะเพศยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมและบรรเทาอาการได้โดยการใช้ยาต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ซึ่งจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นในผู้ที่เพิ่งมีอาการ บรรเทาความรุนแรง ลดระยะเวลา และความถี่ของการกลับมาเกิดซ้ำ อีกทั้งลดโอกาสการแพร่เชื้อไวรัสสู่ผู้อื่น ซึ่งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาตั้งแต่ที่ผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการ  โดยแพทย์ใช้ยารักษาโรค ดังนี้

ยาสำหรับรับประทาน

  • ยาต้านไวรัส HSV ได้แก่ ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir)
  • ยาระงับความเจ็บปวดชนิดรับประทาน เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
  • ยาต้านการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)

แนะนำให้ทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคเริม

ยาทาภายนอก 

  • ยาแก้ปวดชนิดที่ทาลงบนแผลเริมชนิดที่เป็นเนื้อครีม หรือขี้ผึ้ง เช่น ยาเบนโซเคน (Benzocaine) ยาไลซีน (L-lysine) ยาโดโคซานอล (Docosanal)
  • อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เพนซิโคลเวียร์ (Penciclovir) อาจช่วยลดอาการปวด ทำให้ผื่นแห้งเร็วขึ้น รวมถึงอาจช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
  • ใช้น้ำเกลือล้างแผล เช็ดทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศรอบนอก เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วเช็ดให้แห้ง
  • อาจใช้วิธีการอาบน้ำอุ่น แช่น้ำอุ่น หรือสวมเสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด

การรักษาที่สำคัญที่สุดของโรคเริมที่อวัยวะเพศ คือ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน โดยเฉพาะในบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น ดวงตา เพราะ การติดเชื้อเริม บริเวณใดก็ตาม ต้องดูแลตุ่มใสไม่ให้เกิดการอักเสบติดเชื้อซ้ำซ้อน เพราะถ้าหากติดเชื้อแทรกซ้อน จะทำให้เกิดการทำลายอวัยวะที่ติดเชื้อได้ เช่น ติดเชื้อที่ดวงตาสามารถทำให้ตาบอด หรือสูญเสียการมองเห็นได้ หากติดเชื้อลุกลามอวัยวะภายในก็สามารถสร้างความอันตรายได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

การป้องกันโรคเริมที่อวัยวะเพศ

  • สำหรับคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อ ต้องหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะเชื้อเริมอาจมีในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ซึ่งเราสามารถสัมผัสเชื้อผ่านสิ่งของ เครื่องใช้ การใช้สิ่งของหรืออุปกรณ์ในที่สาธารณะ หากร่างกายอ่อนแอ และถ้าหากเรามีสุขภาพไม่แข็งแรง เมื่อรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเชื้อก็จะสามารถก่อโรคและอันตรายได้
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคเริม
  • หลีกเลี่ยงการเที่ยวหญิงบริการ และมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครอง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการสัมผัสที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral-genital contact)
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีตุ่มตามผิวหนังหรือเยื่อเมือก หรือผู้ป่วยที่มีแผลเปื่อยในช่องปาก (โดยปกติแล้วระยะแพร่เชื้อติดต่อให้ผู้อื่นได้ คือ ตั้งแต่เริ่มมีอาการนำจนกระทั่งแผลหายตกสะเก็ด)
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น จานชาม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า มีดโกน เป็นต้น
  • ควรรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้งห้าหมู่ในทุก ๆ วัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียง และทำให้จิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส/หลีกเลี่ยงความเครียด

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคนี้มักมีอาการเป็นรอยแผลเปื่องปนเปื้อนที่อวัยวะเพศ รวมถึงอาการคันหรือเจ็บปวดในบริเวณนั้นด้วย การรักษาโรคมุ่งเน้นการควบคุมอาการและลดความรุนแรงของอาการได้โดยใช้ยาต้านไวรัส และยาแก้ปวด ไม่มีการรักษาที่หายขาด ฉะนั้นการป้องกันโรคนี้สำคัญอย่างมากโดยการใช้ถุงยางอนามัยในทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการแพร่กระจายของเชื้อไปยังผู้อื่นด้วย

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *