วิธีทาน ยาต้านฉุกเฉิน (PEP) ที่ถูกต้อง

วิธีทาน ยาต้านฉุกเฉิน (PEP) ที่ถูกต้อง

ยาต้านฉุกเฉิน หรือ PEP เป็นยาที่ใช้สำหรับทานเมื่อเกิดเหตุคาดไม่ถึง อย่างเช่น ถุงยางอนามัยแตก หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่จะต้องทานภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี คุณอาจเคยอ่านเจอ หรือพบเห็นตามสื่อการแพทย์ว่ายานี้จะใช้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงมาแล้ว และยังไม่มีเชื้ออยู่ แต่หลายคนก็ยังใช้ยานี้ผิดๆ ด้วยการทานเป๊ปทุกครั้ง หลังจากมีเซ็กส์ ซึ่งจริงๆ แล้วยาต้านฉุกเฉินเป็นยาอันตรายที่ไม่ควรทานบ่อยๆ วันนี้มาเรียนรู้และเข้าใจวิธีการใช้ยานี้ให้ถูกต้องกันดีกว่า

ยาต้านฉุกเฉิน ช่วยป้องกัน HIV ได้จริงไหม

ยาต้านฉุกเฉิน หรือยาเป๊ป (PEP) ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Post-Exposure Prophylaxis ประกอบไปด้วยตัวยา 3 ชนิดรวมกัน ได้แก่ Tenofovir (TDF) 300 mg, Emtricicabine (FTC) 200 mg และ Dolutegravir (DTG) 50 mg และยังมีสูตรยาอื่นๆ อีกเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์ผู้ทำการตรวจจะพิจารณาเลือกใช้ให้มีความเหมาะสมกับผู้ที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ยาเป๊ป (PEP) ได้รับการยืนยันอย่างเป็นสากลแล้วว่า มีความปลอดภัยในการรับประทานเมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์ และสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้มากกว่า 80% โดยขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังต่อไปนี้

  • เวลาที่เริ่มทานยาต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งการทานยาเร็วที่สุด จะยิ่งช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี
  • อัตราการทานยาที่สม่ำเสมอต่อเนื่อง ครบตามจำนวน 28 วัน ไม่ขาดยา และตรงต่อเวลาทุกวัน
  • ประวัติความเสี่ยงมากน้อยต่อเชื้อเอชไอวี และในช่วงระหว่างที่ทานยา PEP อยู่

เพราะเหตุใด ต้องทานยาต้านฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง

เนื่องจากไวรัสเอชไอวีมีความฉลาด และแพร่กระจายตัวได้รวดเร็วมาก คือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนเราแล้ว อาจเจริญเติบโตแบ่งตัวออกเป็นจำนวนมากได้เพียงแค่ 24-36 ชั่วโมงเท่านั้น และจะต้องเป็นผู้ที่ยังไม่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อนหน้า โดยคนที่ควรทานยาต้านฉุกเฉินนั้น ได้แก่

  • คนที่มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่สวมถุงยางอนามัย กับผู้ที่ไม่ทราบว่ามีเชื้อเอชไอวีอยู่หรือไม่
  • คนที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ส่วนใหญ่พบในกรณีผู้ที่ติดสารเสพติดประเภทฉีดเข้าเส้น
  • คนที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจ ถูกข่มขืน บังคับขืนใจ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ

อยากทานยาต้านฉุกเฉินต้องทำอย่างไร

ผู้ที่รู้ตัวว่ามีความเสี่ยงมา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ให้รีบทำการปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวี ตรวจการทำงานของตับและไต ตรวจการตั้งครรภ์ในเพศหญิง รวมไปถึงการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อวินิจฉัยว่าคุณสามารถทานยาเป๊ปได้หรือไม่ เมื่อผลทุกอย่างออกมาว่าคุณสามารถเริ่มยาได้ ควรทานยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสเชื้อ 1-3 ชั่วโมง และไม่เกิน 72 ชั่วโมง ทานยาต่อเนื่องวันละ 1 เม็ดติดต่อกันเป็นระยะเวลา 28 วัน เวลาเดียวกันทุกวัน และควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ทานยาต้านฉุกเฉินอยู่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ในระหว่างที่ทานยาต้านฉุกเฉินควรงดบริจาคเลือดทุกกรณี และควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน แต่หากจำเป็นจริงๆ ก็ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะหากเกิดความเสี่ยงซ้ำในระหว่างที่กำลังทานยาอยู่ อาจต้องเสียเวลากลับไปปรึกษาแพทย์ เพื่อปรับเพิ่มระยะเวลาทานยาเป๊ปให้นานขึ้น

ในเรื่องของผลข้างเคียงของยาต้านฉุกเฉิน ปัจจุบัน ไม่ค่อยมีผลข้างเคียงที่รุนแรงแล้ว อาการที่อาจพบได้ เช่น รู้สึกคลื่นไส้ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ท้องเสีย ซึ่งมักจะเป็นเพียงช่วงแรกของการทานยาและอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง และการทานยาเป๊ปเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่ต้องกังวลถึงผลข้างเคียงระยะยาว แต่หากพบอาการที่รุนแรงมากให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที

หลังกินยาเป๊ปครบแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ

กลับไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อทำการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอีกครั้ง และอาจมีการนัดตรวจอีกครั้งหลังจากผ่านไปประมาณ 90 วัน เป็นการยืนยันผลการรักษาที่แน่นอน ซึ่งการนัดตรวจหลังทานยาเป๊ปครบแล้ว มีความสำคัญอย่างมาก ผู้ที่ทานยาควรกลับมาติดตามผลเลือดอย่างสม่ำเสมอ และประเมินความเสี่ยงต่อ หากยังมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเสี่ยง แนะนำให้เริ่มทานยาเพร็พ (PrEP) ต่อเพื่อป้องกันการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น

ความเข้าใจผิดในการทานยาต้านฉุกเฉิน (PEP)

  • เลือกทานยาต้านฉุกเฉินทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เสี่ยงต่อเอชไอวี แทนการทานยาเพร็พ (PrEP)
  • เลือกไม่สวมถุงยางอนามัยก็ได้ เพราะเข้าใจผิดว่าอย่างไรก็มียาต้านฉุกเฉินช่วยป้องกัน
  • ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก็ได้ ซึ่งไม่จริง เพราะแพทย์จะไม่จ่ายยาต้านฉุกเฉินให้คุณ
  • หากตรวจเลือดและพบว่าเป็นผลลบ ก่อนทานยาหมดก็หยุดยาได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเชื้อเอชไอวีมีระยะฟักตัว เพราะฉะนั้นการตรวจเอชไอวีแล้วยังไม่พบเชื้อ ไม่ได้ถือว่าคุณจะไม่ติดเชื้อแล้ว
  • ซื้อยาต้านฉุกเฉินที่ร้านขายยาก็ได้ แต่ยานี้เป็นยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ผู้มีใบประกอบโรคศิลป์เท่านั้น คุณควรติดต่อรับยาเป๊ปที่สถานพยาบาลเฉพาะทางเท่านั้น
ความเข้าใจผิดในการทาน ยาต้านฉุกเฉิน (PEP)

ยาต้านฉุกเฉิน (PEP) กับยาต้านไวรัสเอชไอวีก่อนเสี่ยง (PrEP) มีความคล้ายคลึงกันแต่ใช้ในเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน การได้รับความรู้ในเรื่องนี้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้คุณสามารถป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ รวมไปถึง ก่อนที่จะทานยาต้านฉุกเฉิน ต้องปรึกษาแพทย์เท่านั้น ไม่มียาชนิดนี้จำหน่ายทางออนไลน์ หรือร้านขายยาทั่วไป ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ยาต้านฉุกเฉินเป็นยาอันตรายที่จำเป็นต้องมีการซักประวัติความเสี่ยงกับผู้ที่จะทานและตรวจเลือดโดยละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดเชื้อจริงๆ และสามารถทานยาต้านฉุกเฉินนี้ได้อย่างปลอดภัยครับ

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม

Similar Posts