ติดซิฟิลิส ต้องใช้เวลารักษานานไหม

ติดซิฟิลิส ต้องใช้เวลารักษานานไหม

ทำอย่างไรเมื่อคุณ ติดซิฟิลิส ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดนี้เสียก่อน ว่าเป็นโรคที่แฝงตัวอยู่ในสังคมไทยอย่างยาวนาน และยังไม่ได้รับความสำคัญ ในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคซิฟิลิสนี้ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้เรียนรู้ที่จะป้องกันมากนัก ซิฟิลิส จึงถือเป็นกามโรคอันดับต้นๆ ที่เรียกได้ว่ามีความน่ากลัวกว่าไวรัสเอชไอวีเสียอีก

ติดซิฟิลิส ได้จากสาเหตุใดบ้าง

เชื้อซิฟิลิสนั้นเป็นแบคทีเรีย ที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านสารคัดหลั่งของมนุษย์ แบคทีเรียนี้มีชื่อว่า ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum) มีลักษณะจุลินทรีย์ขดเป็นเกลียว ความยาวประมาณ 6-15 ไมโครเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กมาก สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสแผลโดยตรง และส่วนมากจะเป็นแผลที่ไม่มีอาการเจ็บหรือแสบใดๆ ทำให้หลายคนไม่ได้สังเกตเห็นแผล จึงติดได้ง่าย และไม่รู้ตัว โดยเฉพาะตอนที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้สวมถุงยางอนามัยกับคนที่มีเชื้อนี้อยู่

“ซิฟิลิส ไม่ได้ติดต่อผ่านการใช้สิ่งของร่วมกัน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน
เพราะแบคทีเรียถูกทำลายได้ด้วยความร้อน สบู่ และน้ำยาทำความสะอาด”

ติดซิฟิลิส แล้วอาการเป็นอย่างไร

เมื่อร่างกายได้รับเชื้อซิฟิลิส จะมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 3 สัปดาห์ไปจนถึง 12 สัปดาห์เลยทีเดียว เพราะสุขภาพของคนเราไม่เหมือนกัน มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงหรืออ่อนแอไม่เท่ากัน โดยแบ่งอาการของโรคซิฟิลิสออกเป็น 3 ระยะดังนี้

ซิฟิลิสระยะที่ 1

หลังจาก ติดซิฟิลิส ได้ประมาณ 3 สัปดาห์ ในเพศชายจะเกิดแผลขนาดเล็ก บริเวณปลายองคชาติ หรือลำอวัยวะเพศ มีลักษณะเรียบและแข็ง เรียกกันโดยทั่วไปว่า “แผลริมแข็ง” ไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด ในเพศหญิง จะเกิดแผลเช่นกัน แต่อาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด ในกลุ่มชายรักชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือมีการทำรักทางปาก (Oral Sex) ก็จะพบแผลริมแข็งนี้ขึ้นได้บริเวณที่มีเพศสัมพันธ์เช่นกัน โดยแผลนี้อาจเกิดขึ้นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน อีกทั้งยังสามารถหายไปได้เองแม้ไม่ได้รับการรักษาใดๆ ภายใน 6 สัปดาห์

ซิฟิลิสระยะที่ 2

หลังจากแผลริมแข็งในซิฟิลิสระยะแรกผ่านไป โรคจะเริ่มพัฒนาอาการไปเรื่อยๆ ภายใน 1-3 เดือน ผู้ติดเชื้อซิฟิลิสจะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะนูนคล้ายหูด ขึ้นตามบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อวัยวะเพศ ขาหนีบ ทวารหนัก ช่องปาก และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ไม่มีอาการคันตามผิวหนัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ มีปื้นแผ่นสีขาวในปาก มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต รู้สึกเหนื่อยง่าย น้ำหนักลดลง มีผมร่วง เป็นต้น อาการเหล่านี้มักจะหายไปได้เอง แม้ไม่ได้รับการรักษาเช่นกัน

ซิฟิลิสระยะสงบ

ซิฟิลิสระยะสงบ

หรือภาวะซิฟิลิสแฝงตัวในร่างกาย เป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่ผู้ป่วยยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกาย และตรวจเลือดพบได้ ระยะนี้สามารถเกิดได้นานเป็นปี ก่อนจะพัฒนาไปยังระยะสุดท้ายของโรค คนส่วนใหญ่มักตรวจพบระยะนี้ก็ตอนที่ตรวจสุขภาพประจำปี หรือตั้งครรภ์และไปฝากครรภ์กับแพทย์

ซิฟิลิสระยะที่ 3

เป็นขั้นสุดท้ายของโรคซิฟิลิส ที่ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของหัวใจ สมอง ระบบประสาท และอวัยวะแทบทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งจะนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น โรคอัมพาต โรคหัวใจ ตาบอด หูหนวก อาการชัก เกร็ง กระตุก ตัวชา ภาวะสมองเสื่อม ไร้สมรรถภาพทางเพศ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เสียสติ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในที่สุด

ควรตรวจซิฟิลิสเมื่อไหร่

ในความเป็นจริง เราควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะหากเคยมีเพศสัมพันธ์หรืออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้อยู่แล้ว หรือหลังจากมีความเสี่ยง จะต้องรอระยะฟักตัวคล้ายกับการตรวจเอชไอวี แนะนำให้ตรวจซิฟิลิสหลังเสี่ยง 7-10 วันไปแล้ว และตรวจหลังจากนี้อีกครั้งที่ 30 วันเพื่อความมั่นใจ ซึ่งการตรวจซิฟิลิส มีรูปแบบหลายวิธี ดังต่อไปนี้

การตรวจซิฟิลิสแบบ RPR และ VDRL (Rapid Plasma Reagin)

การตรวจซิฟิลิสแบบ RPR (Rapid Plasma Reagin) และ VDRL (Venereal Disease Research Laboratory) เป็นการตรวจเลือด เพื่อค้นหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของร่างกายที่ไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแบคทีเรียทั้งคู่ ใช้สำหรับตรวจคัดกรองเบื้องต้นในระยะติดเชื้อซิฟิลิสแรกๆ หรือไม่เกินระยะที่ 2 เท่านั้น โดยที่ปกติแล้วร่างกายจะทำการสร้างภูมิคุ้มกันนี้ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อ ซึ่งหากตรวจพบเชื้อ แพทย์จะทำการตรวจยืนยันผลอีกครั้งด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพราะผลบวกอาจมาจากการติดเชื้ออื่นได้ ใช้เวลารอผลตรวจประมาณ 60 นาที

การตรวจซิฟิลิสแบบ TPHA (Treponema Pallidum Hemagglutination Assay)

เป็นการตรวจโดยใช้เม็ดเลือดแดง ที่เคลือบแอนติเจนของเชื้อซิฟิลิส มาทำปฏิกิริยากับเซรั่มของผู้ตรวจ หากมีเชื้อซิฟิลิส จะสังเกตเห็นเม็ดเลือดเกาะกลุ่ม และแผ่เป็นวงกว้าง ใช้เวลารอผลตรวจประมาณ 60 นาที

การตรวจซิฟิลิสแบบ TPPA (Treponema Pallidum Particle Agglutination)

มีลักษณะวิธีการตรวจ และการอ่านผลคล้ายกับวิธีตรวจที่ 3 (TPHA) แต่จะใช้เม็ดเจลาตินแทนเม็ดเลือดแดงที่เคลือบแอนติเจนของเชื้อ มาทำปฏิกิริยากับเซรั่มของผู้ตรวจ และหากมีเชื้อซิฟิลิสจะสังเกตเห็นเม็ดเจลาตินเกาะกลุ่ม และแผ่เป็นวงกว้างสีชมพู

การตรวจซิฟิลิสแบบ FTA-ABS IgG และ IgM (Fluorescent Treponemal Antibody Absorption)

เป็นการตรวจซิฟิลิสโดยนำเซรั่มซึ่งเป็นส่วนของน้ำเหลืองที่ได้จากการปั่นแยก ออกจากเลือดของผู้ตรวจ ไปทำปฏิกิริยากับตัวดูดซับที่ผสมกับเชื้อ Treponema Phagedenis Biotype Rieter และใช้สารเรืองแสงสีเขียว (Fluorescein Isothiocyanate) ช่วยในการอ่านผล หากมีเชื้อซิฟิลิสจะเห็นสารเรืองแสงนี้ จับตัวเป็นกลุ่มก้อนที่ตัวเชื้อ วิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญในการทดสอบและอ่านผลปฏิกิริยาจากแพทย์เฉพาะทาง แต่ได้ผลตรวจที่มีความแม่นยำมากกว่าวิธีอื่น ใช้เวลารอผลตรวจประมาณ 3 วัน

ข้อควรปฏิบัติระหว่างการรักษาซิฟิลิส

ติดซิฟิลิส รักษาอย่างไร

ถ้าหากคุณตรวจพบเชื้อซิฟิลิส ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยทั่วไปแพทย์จะทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นหลัก ซึ่งโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในประเทศไทยจะใช้ยากลุ่มเพนิซิลลินเป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ แต่จะขึ้นอยู่กับระยะของซิฟิลิสที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ด้วย ข้อควรปฏิบัติในระหว่างทำการรักษาซิฟิลิส ได้แก่

  • งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่กำลังรักษา ควรรอให้หายดีเสียก่อน
  • ไปตามนัดทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หากมียาชนิดรับประทานให้ทานให้ครบ อย่าขาดยา
  • ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดอาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และงดสูบบุหรี่
  • ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและช่องปากให้ดี

หากคุณเป็นโรคซิฟิลิส ควรบอกคู่นอน หรือแฟนของคุณให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อด้วย หากพบเชื้อก็จะได้ทำการรักษาไปพร้อมๆ กัน ลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต

มาป้องกันโรคซิฟิลิสกันเถอะ

โรคซิฟิลิส ป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหนก็ตาม เพราะเราไม่รู้ว่าใครมีเชื้อนี้อยู่ รวมไปถึง การงดใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เพราะเชื้อซิฟิลิสสามารถส่งต่อผ่านเลือดได้ด้วย

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์ เพราะหากพบเชื้อ จะได้วางแผนการรักษาไม่ให้เชื้อส่งต่อไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้ หากไม่ได้ตรวจและไม่ได้ทำการรักษาโรคซิฟิลิส อาจส่งผลให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด เกิดการแท้งบุตร ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกเสียชีวิตหลังคลอด ทารกมีอาการบวมน้ำ ทารกพิการแต่กำเนิด เป็นต้น หรือครอบครัวไหนที่ต้องการมีบุตร ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนล่วงหน้า เป็นการเตรียมตัวไม่ให้เด็กที่เกิดมาในอนาคต มีความเสี่ยงตามไปด้วยครับ

อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจที่นี่

Similar Posts