รู้เท่าทันโรคซิฟิลิส
|

รู้เท่าทันโรคซิฟิลิส

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากการติดต่อผ่านทางเพศกับคนที่เป็นโรค หรือคนที่ติดเชื้อ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก และสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ ผ่านการถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มร่วมกันได้เหมือนกัน

โรคซิฟิลิส (Syphilis) คือ

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา พาลลิดัม (Treponema pallidum) โดยปกติจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดผื่นหรือแผลตามผิวหนัง และ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้นหากไม่รักษา

โดยทั่วไปโรคซิฟิลิสจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลนี้กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ

ระยะฟักตัวของโรค

หลังจากที่ได้รับเชื้อ ก็มักจะแสดงอาการภายใน 10 – 90 วัน

สาเหตุของซิฟิลิส

โรคซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) จากการสัมผัสถูกเชื้อโดยตรงจากแผลของผู้ป่วย และระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ที่มักสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อได้มากที่สุด จึงมักถูกจัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้การใช้เข็มฉีดยารวมกับผู้อื่น การรับเลือดจากผู้อื่น รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อสามารถส่งผ่านเชื้อไปยังทารกในครรภ์ได้เช่นกัน

ในช่วงระยะที่ 1-2 ของการติดเชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ง่ายมากที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้สิ่งของร่วมกันในบางกรณีที่ไม่ได้สัมผัสกับเชื้อโดยตรงอาจไม่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ เช่น การใช้ห้องน้ำ การสวมเสื้อผ้า หรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน รับประทานอาหารจากภาชนะเดียวกัน หรือแม้แต่จากลูกบิดประตู สระว่ายน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ นอกจากนี้ มีการติดเชื้อบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก สามารถเกิดได้จากการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีการติดเชื้ออยู่ขณะนั้น เช่น ผ่านทางการจูบ เป็นต้น

โรคซิฟิลิส ติดต่อกันได้อย่างไร

สามารถรับเชื้อซิฟิลิสได้ 3 ทาง คือ
1. ทางเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อผ่านทางเยื่อบุช่องคลอด ท่อปัสสาวะ
2. ติดต่อผ่านการสัมผัสแผลที่มีเชื้อ โดยผ่านทางผิวหนัง เยื่อบุตา ปาก
3. จากแม่สู่ลูก โดยหากมารดาเป็นซิฟิลิส จะถ่ายทอดโรคนี้สู่ทารกในครรภ์ได้ โดยเรียกเด็กที่เป็นซิฟิลิสจากสาเหตุนี้ว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital Syphilis) จะแสดงอาการหลังคลอดได้ 3-8 สัปดาห์ และเป็นอาการเล็กน้อยมาก จนแทบไม่ทันได้สังเกต เช่น มีตุ่มผื่นขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มาออกอาการมาก ๆ เข้าเมื่อตอนโต ซึ่งก็เข้าสู่ระยะที่สี่แล้ว หรือบางคนอาจแสดงอาการพิการออกมาให้เห็นได้ชัด

อาการของซิฟิลิส

แบ่งอาการออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (Early/Primary Syphilis) มักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการเกิดแผลขนาดเล็กบริเวณที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ โดยปลายขอบแผลมีลักษณะเรียบและแข็งที่เรียกว่า แผลริมแข็ง (Chancre) สำหรับผู้ชายแผลริมแข็งมักจะเกิดในบริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้ แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่มีแผลหลายตำแหน่ง โดยแผลริมแข็งจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10-90 วัน มักไม่มีอาการเจ็บปวดและจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 6 สัปดาห์แม้ไม่ได้รับการรักษา
  • ระยะที่ 2 (Secondary Stage) โรคจะเริ่มพัฒนาจากระยะแรกใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดผื่นที่มีลักษณะตุ่มนูนคล้ายหูดขึ้นตามบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า อวัยวะเพศ หรือส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ทวารหนัก ภายในช่องปาก แต่ไม่มีอาการคันตามผิวหนัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ มีปื้นแผ่นสีขาวในปาก เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ผมร่วง หรืออาการอื่น ๆ แต่อาการเหล่านี้มักจะหายไปแม้ไม่ได้รับการรักษาเช่นกัน
  • ระยะสงบ หรือระยะแฝง หรือ Latent Syphilis เป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่ผู้ป่วยยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายและตรวจเลือดพบได้ ระยะนี้สามารถเกิดได้นานเป็นปีก่อนจะพัฒนาไปยังระยะสุดท้าย

  • ระยะที่ 3 (Tertiary Syphilis) หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้โรคพัฒนามาจนถึงระยะสุดท้ายที่ก่อให้เกิดความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ สมอง ระบบประสาท หรืออวัยวะหลายส่วนของร่างกายเมื่อเชื้อไปอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น อัมพาต ตาบอด ภาวะสมองเสื่อม หูหนวก ไร้สมรรถภาพทางเพศ โรคหัวใจ เสียสติ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

การตรวจและวินิจฉัยโรคซิฟิลิส 

แพทย์จะสอบถามข้อมูลทั่วไป เช่น อาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นของผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วย พฤติกรรมด้านเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการตรวจร่างกายในเบื้องต้น ซึ่งแพทย์ หรือพยาบาลจะตรวจดูบริเวณอวัยวะเพศหรือส่วนอื่นของร่างกายว่าพบแผล หรือความผิดปกติใด ๆ ที่อาจเกิดจากโรคซิฟิลิส ก่อนจะสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นเพิ่มเติม ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มักใช้ในการวินิจฉัย ได้แก่

  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจหาเชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วย โดยในบางรายที่ผลการตรวจออกมาว่ามีการติดเชื้อ อาจต้องมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรก เพื่อช่วยยืนยันการติดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสขึ้น  
  • การเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจ (Swab Test) ในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดแผลหรือผื่นตามร่างกาย แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างจากเชื้อบนผิวหนัง หรือน้ำเหลืองจากแผลไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ หาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิสหรือไม่

ทั้งนี้ การวินิจฉัยต้องดูระยะของโรคที่ผู้ป่วยเป็นร่วมด้วย เนื่องจากในบางระยะอาจไม่มีอาการของโรคแสดงออกมาให้เห็น แต่เมื่อโรคเข้าสู่ระยะสุดท้าย มักพบความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ แพทย์จึงอาจมีการเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการในบางรายตามระยะโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น แพทย์อาจทำการเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal Tap/Lumbar Puncture) ในกรณีที่คนไข้มีอาการทางระบบประสาท แต่ไม่พบอาการอื่น ๆ ของโรค

การรักษาซิฟิลิส

สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เป็นหลัก แม้ว่าอาการของโรคในระยะแรกมักเกิดขึ้นแล้วหายไป และอาการในระยะท้ายมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องก่อนโรคมีการพัฒนามากขึ้นจนรุนแรงต่อระบบอื่นในร่างกาย ในช่วงระหว่างการรักษา ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคหรือกระตุ้นให้โรคเกิดการกำเริบมากขึ้นหากได้รับเชื้อจากผู้อื่นอีกครั้ง และแนะนำให้คู่นอนมาตรวจด้วยเช่นกัน

ส่วนใหญ่ยากลุ่มเพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ที่แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิด เช่น
– ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G)
– ยาเอเควียส เพนิซิลลิน จี (Aqueous Penicillin G)

ซึ่งแพทย์จะฉีดให้ผู้ป่วยโดยดูจากระยะเวลาในการป่วยว่าเป็นมานานเท่าใด

  • ผู้ป่วยระยะที่ 1-2 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วย 1 ครั้ง   
  • ผู้ป่วยระยะแฝงหรือระยะที่ 3 จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกัน 3 สัปดาห์
  • หากโรคซิฟิลิสขึ้นไปที่สมอง (Neurosyphilis) แพทย์จะฉีดเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี เข้ากล้ามเนื้อ 18-24 ล้านยูนิตต่อวัน โดยแบ่งการให้ยาเป็น 3-4 ล้านยูนิตทุก 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนาน 10-14 วัน หรือฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อให้ผู้ป่วยวันละ 1 ครั้ง ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลานาน 10-14 วัน
  • สำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยาเพนิซิลลินยังไม่มีตัวยาที่ใช้ทดแทนอย่างแน่นอน อาจจะให้รับประทานยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งต่อวัน ร่วมกับยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นานติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน หรือฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ขนาด 1-2 กรัมเข้ากล้ามเนื้อเป็นเวลา 10-14 วัน

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยยาอาจส่งผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น ไข้ขึ้น เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อหรือปวดตามข้อ แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ทุเลาลงในเวลาไม่นาน บางครั้งแพทย์อาจจ่ายยาพาราเซตามอล ช่วยบรรเทาอาการ ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อประเมินและปรับตัวยาที่ใช้ในการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อต่อไป

โรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?

หากพบอาการป่วยของโรคนี้ แล้วได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้โดยไม่มีผลแทรกซ้อนในระยะยาว

การป้องกันซิฟิลิส

  1. งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ 
  2. มีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยา / คู่นอนของตนเองคนเดียวเท่านั้น
  3. ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (การใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดการติดเชื้อซิฟิลิสได้ แต่ตัวถุงยางอนามัยต้องครอบคลุมบริเวณแผลด้วย)
  4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลซิฟิลิส คู่นอนอาจมีแผลที่ปาก ลิ้น อวัยวะเพศ ดังนั้นอาจติดเชื้อได้จากการ จูบ หรือทำ Oral sex
  5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติดประเภทต่างๆ (การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือการใช้ยาเสพติดต่างๆ มีผลทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้
  6. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคนี้
  7. งดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  8. หญิงมีครรภ์ควรได้รับการตรวจเลือดคัดกรองโรคในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ของการตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังทารก
  9. การทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆของคู่นอน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์
  10. ไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการผิดปกติ อย่ารักษาด้วยตนเอง  หรือไปพบแพทย์เมื่อมีความกังวลหรือสงสัยว่าตนเองติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์รวมถึงซิฟิลิส

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • ซิฟิลิส https://www.pobpad.com/ซิฟิลิส
  • รู้เท่าทัน ป้องกัน โรคซิฟิลิส https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/syphilis
  • ซิฟิลิส https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/บทความ-สุขภาพผู้หญิง/ซิฟิลิส
  • ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/ซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์/
  • โรคซิฟิลิส https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=883

Similar Posts